อัพเดท “ข้อความโฆษณา” ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคตามประกาศจากคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ตามแนวทางการใช้ข้อความโฆษณาและการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริง พ.ศ. 2565
ประกาศแนวทางการใช้ข้อความโฆษณาและการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริง พ.ศ. 2565
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุษาได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ. 2565
ซึ่งเป็นประกาศที่ให้ความสำคัญกับข้อความโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ทำการลงโฆษณา ที่ต้องการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน โดยมีแนวทางแนะนำหลีกเลี่ยงการใช้คำโฆษณาที่อ่านหรือฟังแล้ว ทำให้เข้าใจถึงสรรพคุณ คุณสมบัติ หรือคุณภาพที่เกินจริงโดยไม่มีหนังสือ/เอกสารรับรอง หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ รวมถึงคำโฆษณาที่เข้าข่ายไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
จึงได้กำหนดแนวทางการใช้ข้อความโฆษณาไว้ ดังนี้
- ข้อความโฆษณา ไม่ว่าจะอยู่ในสื่อโฆษณาใดก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจนตามประเภทของสื่อโฆษณา ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ และหากข้อความโฆษณาเป็นภาษาต่างประเทศ ก็ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับข้อความที่เป็นสาระสำคัญด้วยทุกครั้ง
- ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ต้องคำนึงถึงความเข้าใจของผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น หากมีการโฆษณาให้ “ใช้บริการฟรี” ก็ต้องแจกแจงเงื่อนไขหรือวิธีการที่จะได้รับบริการนั้น ๆ ฟรีอย่างชัดเจนและครบถ้วน
- โฆษณาที่แสดงปริมาณ ปริมาตร ขนาด จำนวน ส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องโฆษณาให้ตรงกับสินค้าหรือบริการที่ขายจริง ๆ
- กรณีที่โฆษณา มีการอ้างอิงผลการทดสอบหรือผลการทดลองภายใต้สภาวะแวดล้อมหรือเงื่อนไขเฉพาะ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สภาพพื้นที่ จะต้องมีข้อมูลระบุไว้ในโฆษณาด้วยตัวอักษรให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ว่าเป็นผลการทดสอบหรือผลการทดลองของสถาบัน หน่วยงาน หรือองค์กรไหน และเมื่อมีการเรียกไปพิสูจน์ ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการลงโฆษณา ต้องมีข้อมูลหลักฐานแสดงยืนยันได้ทันที
- ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการลงโฆษณา ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด หรือข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันที่ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ
- ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการลงโฆษณา ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นสิ่งเชิญชวนหรือชักจูงใจให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความทุกข์หรือต้องการที่พึ่งทางใจซื้อสินค้าหรือรับบริการ
- ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการรับประกันสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ทำการโฆษณาต้องระบุตัวผู้รับประกัน ระยะเวลาการรับประกัน ลักษณะ ขอบเขต ขั้นตอน วิธีการและเงื่อนไขของการปฏิบัติตามสัญญาของการรับประกันให้ชัดเจนและถูกต้องครบถ้วน เพื่อแสดงถึงเจตนาความรับผิดชอบ และไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการ
- ข้อความโฆษณา ที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เปรียบเทียบคุณสมบัติสินค้าหรือบริการของตนกับสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน หรือข้อความอ้างอิงข้อเท็จจริงจากรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดในการโฆษณา ตลอดจนรางวัลต่าง ๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ทำการโฆษณาต้องมีหน้าที่พิสูจน์เอกสารหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันได้ในขณะที่โฆษณา
ตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ข้อความที่มีลักษณะเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด
- บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
- ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า
- ขอสงวนสิทธิ์ปัดเศษ ส่วนลดขึ้น โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
- ภาพสินค้าเป็นเพียงตัวอย่างอาจไม่ตรงกับรุ่นที่จัดโปรโมชัน
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลชักจูงใจผู้บริโภค
- เมื่อใช้แล้ว จะเห็นผลทันที, เห็นผลภายใน 7 วัน
- รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา
- รับแก้เคราะห์ แก้กรรม
- เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์
- ใครเห็นใครรัก
- นั่งสมาธิดูอดีตชาติ
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่มีลักษณะเป็นการรับประกันสินค้าหรือบริการ
- ปลอดภัย หายห่วง
- SAFE VALVE แบตระเบิด จ่ายทันที! 200,000
- ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน
- ไม่เห็นผลยินดีคืนเงิน
- รับประกันความพึงพอใจ
- หากสินค้าเกิดความเสียหายจากการขนส่ง เปลี่ยนสินค้าใหม่ทันที
- ใช้ข้อความรับประกันสินค้าโดยไม่ระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ข้อความที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง
- ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด สุดยอด ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย
- ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว รายเดียว รายแรก เจ้าแรก แห่งเดียว ครั้งแรก มีเพียงที่เดียวในประเทศ
- ยอดขายอันดับ 1, ยอดขายอันดับต้น ๆ จากประเทศ….
- ดีกว่า มากกว่า
- มีเพียงแค่ 2 แห่งในประเทศ
- เห็นผล 100%
- ข้อความที่อ้างอิงผลการทดสอบ ผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ หรือที่ได้รับการรับรองจาก….
- ผ่านมาตรฐานจากสถาบันการทดสอบจากต่างประเทศ
- ได้รับรางวัล…
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับให้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และหากผู้ประกอบธุรกิจท่านใดไม่ปฏิบัติตามประกาศ อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดูข้อมูลเพิ่มบทลงโทษเพิ่มเติม)
แหล่งข้อมูล
Leave a Comment